• ฝ่ายบัณฑิตศึกษา

คำถามที่พบบ่อย


Q 1 : หากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบังคับจะต้องทำอย่างไร

A 1 : ทำบันทึกข้อความชี้แจงเรียนรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา ระบุเหตุผลสุดวิสัย ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ แจ้งแนวทางชดเชยกิจกรรมนั้นๆ เช่น เข้าร่วมในปีการศึกษาถัดไป ทำกิจกรรมจิตอาสาทดแทน เป็นต้น โดยจะต้องมีการลงนามของนิสิต อาจารย์ที่ปรึกษา(ถ้ามี) และหัวหน้าภาควิชา/ประธานหลักสูตร ส่งเอกสารที่สำนักงานบัณฑิตศึกษา เสนอรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาเพื่อพิจารณาต่อไป

 

Q 2 : นิสิตที่ครบระยะเวลาการศึกษาตามเกณฑ์แล้ว แต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา จะต้องทำกิจกรรมจิตอาสาหรือไม่

A 2 :  นิสิตทุกคนจะต้องทำกิจกรรมจิตอาสา 10 ชม./ปีการศึกษา จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารคณะฯ  หรือ จนกว่านิสิตจะรักษาสถานภาพรอตีพิมพ์

 

Q 3 : หากในปีการศึกษาไม่สามารถทำกิจกรรมจิตอาสาได้ครบ 10 ชั่วโมง  จะต้องทำอย่างไร

A 3 : ขอให้ทำกิจกรรมเพิ่มในปีการศึกษาถัดไป และส่งบันทึกข้อความชี้แจงสาเหตุ การทำกิจกรรมชดเชยเรียนรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาเมื่อจะสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรรับทราบและให้ความเห็นชอบด้วย

 

Q 4 : เมื่อถึงเวลาต้องลงทะเบียนเรียน ควรปฏิบัติอย่างไร

A 4 : 1. สอบถามรหัสรายวิชา และตอนเรียน จากภาควิชา/หลักสูตร เพื่อป้องกันความผิดพลาดในภายหลัง และจะต้องตรวจสอบด้วยว่ารายวิชาที่ยื่นความจำนงไว้นั้น ลงทะเบียนสำเร็จทุกรายวิชาหรือไม่ ตามกำหนดการที่สำนักงานการทะเบียนแจ้งไว้ในปฏิทินการศึกษา

2. ชำระค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ตามวันเวลาที่มหาวิทยาลัยและคณะกำหนด

 

Q 5 : ถ้านิสิตลืมลงทะเบียนเรียนตามรอบที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะต้องทำอย่างไร

A 5 : สามารถลงทะเบียนเรียนสายได้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเปิดภาคการศึกษา แต่ต้องชำระค่าปรับตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ที่สำนักงานการทะเบียน อาคารจามจุรี 6 ชั้น 2 ถ้าเลยจากนี้ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอลงทะเบียนเรียนหลังกำหนดด่วนที่สุด สอบถามข้อมูลเพื่อเติมที่สำนักงานบัณฑิตศึกษา

 

Q 6 : นิสิตสามารถให้คณะส่งตัวกลับเข้ารับราชการ ณ ต้นสังกัดเดิมได้เมื่อไร

A 6 : คณะจะส่งตัวกลับเข้ารับราชการ เมื่อนิสิตมีสถานะดังนี้

1.  เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารคณะฯ

2.  ได้รับอนุมัติจากหลักสูตรและคณบดีให้พ้นสภาพการเป็นนิสิต

 

Q 7 : นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนไปแล้ว ต่อมายื่นเรื่องขอลาออก สามารถขอคืนค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ได้หรือไม่

A 7 : ตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อปฏิบัติในการลงทะเบียนเรียน พ.ศ. 2550 (ข้อ5) มีข้อความดังนี้

         “ข้อ 5 นิสิตผู้ใดลงทะเบียนเรียนแล้ว หากต่อมาได้ยื่นคำร้องขอลาออก หรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษาหรือวันเปิดภาคฤดูร้อน เมื่อการลาออกหรือลาพักการศึกษาได้รับอนุมัติจากคณบดีที่นิสิตสังกัดแล้ว ให้ดำเนินการคืนเงินค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมการศึกษา แล้วแต่กรณี ให้แก่นิสิตผู้นั้น เว้นแต่ เป็นกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหลักสูตรเกิดขึ้นก่อนวันเปิดภาค ให้หักจำนวนเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกจากเงินที่ต้องคืนให้แก่นิสิต ทั้งนี้ ตามอัตราซึ่งกำหนดไว้ในประกาศที่ออกโดยคณะกรรมการบริหารของแต่ละหลักสูตร ในกรณีที่นิสิตยื่นคำร้องลาออกหรือลาพักการศึกษาภายหลังกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินต่างๆ ดังกล่าว”

 

Q 8 :  ถ้าต้องการลาพักการศึกษาต้องทำอย่างไร

A 8 :  ตามระเบียบข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 หมวด 9 การลาพักการศึกษา ข้อ 133 วรรค 2 “นิสิตต้องกระทำก่อนวันสุดท้ายของการสอบในภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนนั้น ตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินการศึกษา” (สอบถามข้อมูลการยื่นคำร้องที่สำนักงานบัณฑิตศึกษาโดยตรงเท่านั้น)

 

Q 9 : ถ้าต้องการจอดรถในอาคารวิทยกิตติ์ ต้องทำอย่างไร

A 9 : ติดต่อขอรับแบบฟอร์มขอที่จอดรถได้ที่สำนักงานบัณฑิตศึกษา  และจำกัดจำนวน มาก่อนได้ก่อน

 

Q 10 : เมื่อนิสิตปริญญาเอกและปริญญาโท ลงทะเบียนเรียนครบทุกรายวิชาแล้ว ยังต้องลงทะเบียนเรียนและชำระค่าเล่าเรียนอีกหรือไม่

A 10 : นิสิตจะต้องลงทะเบียนรายวิชาวิทยานิพธ์ 0 หน่วยกิต และชำระค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน จนกว่าจะ สำเร็จการศึกษาหรือรักษาสถานภาพรอตีพิมพ์

 

Q 11 : หากนิสิตต้องการใช้ห้องเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ต้องทำอย่างไร

A 11 : ติดต่อธุรการภาควิชา/หลักสูตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจองห้องผ่านระบบอินทราเน็ตของคณะ

 

Q 12 : นิสิตจะใช้คอมพิวเตอร์และพริ้นเอกสารได้ที่ใดบ้าง

A 12 : ห้องสมุด ชั้น 3 และ ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 5  อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 นอกจากนี้สำนักงานบัณฑิตศึกษายังมีคอมพิวเตอร์บริการนิสิต เฉพาะใช้สืบค้นข้อมูลและ ทำวิทยานิพนธ์ออนไลน์ (i-Thesis) ด้วย

 

Q 13 : ถ้าต้องการเข้าร่วมการนำเสนอผลงานทางวิชาการในที่ประชุมวิชาการระดับชาติ หรือ นานาชาติ ตามเกณฑ์สำเร็จการศึกษา ต้องทำอย่างไร

A 13 : นิสิตจะต้องกรอกแบบฟอร์มขอตรวจสอบเกณฑ์การนำเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุมวิชาการของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ส่งที่สำนักงานบัณฑิตศึกษาก่อนลงทะเบียนเข้าร่วมงานดังกล่าว เป็นการตรวจคุณสมบัติของงานประชุมให้เป็นไปตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ยื่นขอสำเร็จการศึกษาได้ ไม่ได้ให้เงินสนับสนุน

 

Q 14 : ถ้านิสิตต้องการเบิกค่าใช้จ่ายเข้าร่วมงานประชุมวิชาการต้องปฏิบัติอย่างไร

A 14 : แจ้งความประสงค์ที่ภาควิชา/หลักสูตร เพื่อให้ทำเรื่องขออนุมัติเข้าร่วมงานมาที่สำนักงานบัณฑิตศึกษา (ค่าใช้จ่ายที่นิสิตจะสามารถเบิกได้ ขึ้นอยู่กับประกาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง กำหนดอัตราการจัดเก็บและอัตราการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายของแต่ละภาควิชา/หลักสูตร ขอให้สอบถามที่ภาควิชา/หลักสูตรโดยตรง)

 

Q 15 : นิสิตปริญญาเอกที่จะต้องสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์อย่างไรบ้าง

A 15 : ตามระเบียบข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561

ส่วนที่ 4 การสอบวัดคุณสมบัติ

1. กรณีไม่ใช่หลักสูตรแบบต่อเนื่อง   ต้องสอบและได้สัญลักษณ์ S ภายใน 4 ภาคการศึกษา นับแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา

1.1  เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญาบัณฑิต (เกียรตินิยม)   หรือ

1.2  เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญาบัณฑิต  โดยได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหลักสูตรไม่ต่ำกว่า  12 หน่วยกิต และมีแต้มเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า  3.5 ขึ้นไป  หรือ

1.3  เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญามหาบัณฑิต

2. กรณีเป็นหลักสูตรแบบต่อเนื่อง

2.1 เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญาบัณฑิต (เกียรตินิยม)   หรือ 

2.2 เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญาบัณฑิต  โดยได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหลักสูตรไม่ต่ำกว่า  12  หน่วยกิต และมีแต้มเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า  3.5 ขึ้นไป  หรือ  

ข้อ 2.1 และ 2.2 ต้องสอบและได้สัญลักษณ์ S ภายใน  4 ภาคการศึกษา นับแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา

2.3 เข้าศึกษาด้วยวุฒิปริญญามหาบัณฑิต   ต้องสอบและได้สัญลักษณ์ S ภายใน 3 ภาคการศึกษา นับแต่ภาคการศึกษาแรก

3. ได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการสอบวัดคุณสมบัติในภาคการศึกษาที่จะสอบแล้ว  

(สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบัณฑิตศึกษา)