• ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา


        ภาควิชาทันตกรรมชุมชน เป็นภาควิชาที่ 14 ของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับอนุมัติให้ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยแยกออกมาจากภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก มีศาสตราจารย์ทันตแพทย์ ม.ร.ว. นิภัสร ลดาวัลย์ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก เป็นรักษาการหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมชุมชน มีอาจารย์ประจำภาควิชาฯ 2 คน และบุคลากรทั้งหมดย้ายมาจาก ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก

        งานทันตกรรมส่วน ใหญ่ตั้งแต่เริ่มตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์จะให้บริการอยู่ภายในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เท่านั้น การเรียนการสอนก็มุ่งให้นิสิตทันตแพทย์ให้บริการด้านการรักษาเป็นหลัก รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความขาดแคลนและความต้องการของสังคม จึงได้อนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนและตั้งภาควิชาทันตกรรมชุมชนขึ้น นับเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกในประเทศที่ได้เปิดภาควิชานี้
ในการจัดการเรียนการสอนของภาควิชาฯ นี้ ในระยะแรกได้รวบรวมรายวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของภาควิชาอื่นๆ มาทำการสอนและอยู่ในความรับผิดชอบของภาคฯ ได้แก่ วิชาระบาดวิทยา การสาธารณสุข จิตวิทยา ระเบียบการจัดสำนักงาน พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะและจรรยาทันตแพทย์ ดังนั้นการตั้งภาควิชานี้จึงไม่กระทบกระเทือนการแบ่งแยกวิชาและเวลาการเรียน การสอนของภาควิชาอื่น

        ต่อมาได้เพิ่มการสอนวิชา คลินิกทันตกรรมชุมชนขึ้น อีก 1 วิชา เพื่อให้นิสิตได้มีการฝึกปฏิบัติตามวิชาต่างๆ ที่ได้เรียนจากการบรรยาย โดยได้จัดให้มีการฝึกปฏิบัตินอกคณะฯเป็นส่วนใหญ่และภายในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น เช่น การทำการสำรวจทันตสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน การออกแบบสอบถามเพื่อหาข้อมูลทางทันตสุขภาพ โดยใช้แบบสอบถามที่นิสิตได้ร่วมกันสร้างขึ้นเอง การฝึกวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนรายงาน การอภิปรายผลงาน นอกจากนี้ยังได้จัดให้ออกไปดูงานในหน่วยงานทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน จุดมุ่งหมายอีกข้อหนึ่งของคลินิกทันตกรรมชุมชน คือให้นิสิตได้รู้จักการทำงานเป็นทีม (team) ด้วย การจัดการฝึกคลินิกนี้ภาควิชาฯ ได้ลดชั่วโมงการสอนภาคทฤษฎีลงให้เหลือเวลาพอที่จะฝึกงานทางคลินิก และขอเวลาพิเศษจากภาควิชาอื่นบ้างเท่านั้น

        จะเห็นได้ว่าการที่จะปฏิบัติงานในชุมชนต่างๆ นอกคณะฯ นิสิตจำเป็นต้องมีความรู้ทางสังคมศาสตร์และวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาชีพที่ศึกษาอยู่แล้ว เพื่อเข้าสู่ชุมชนได้ พร้อมทั้งต้องมีความรู้ทางด้านการบริหารงาน การวางโครงการ และการวิจัยชุมชนเพิ่มขึ้น ภาควิชาฯจึงได้เพิ่มการเรียนการสอนทางด้านต่างๆ ดังกล่าว