• โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา


โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2499 (ซึ่งในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลโรคฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) และได้รับเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลทันตกรรม ต่อมาในวาระที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ก่อตั้งมาครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2533 และเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา  คณะฯ ได้จัดสร้างอาคารเพื่อเป็นโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์หลังใหม่ขึ้น  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย” ซึ่งอาคารหลังนี้จัดเป็นโรงพยาบาลทางทันตกรรมแห่งแรกของประเทศไทย  ที่ให้การรักษาผู้ป่วยด้านทันตกรรม และศัลยกรรมช่องปาก กระดูกขากรรไกรและใบหน้า รวามทั้งโรคอื่นๆ ภายในช่องปากอย่างครบวงจร และนอกจากนี้ยังได้จัดสร้างพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานไว้ ณ โถงชั้น 2 ของอาคารด้วย (ปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่ที่ลานด้านข้างอาคาร) ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ในโวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระชนมายุครบ 93 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์นี้ว่า “อาคารสมเด็จย่า 93” โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิด “อาคารสมเด็จย่า 93” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539” 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาคารสมเด็จย่า 93 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 40 เตียงบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิโลเฟเชียลแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยหน่วยบูรณะช่องปากและใบหน้า หน่วยความผิดปกติของใบหน้าแต่กำเนิด (ปากแหว่ง-เพดานโหว่) หน่วยทันตกรรมผู้สูงอายุ หน่วยทันตกรรมรากเทียม หน่วยผู้ป่วยติดเชื้อ รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนและปฏิบัติงานคลินิกของนิสิตทุกสาขาวิชา เป็นที่ตั้งของภาควิชาทันตกรรมหัตถการ ปริทันตวิทยา พยาธิวิทยา รังสีวิทยา คลินิกทันตกรรมบริการ คลินิกรังสี คลินิกตรวจเวชศาสตร์ช่องปาก เวชระเบียน ศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปาก และห้องประชุมสี สิริสิงห ซึ่งเป็นห้องประชุมขนาด 450 ที่นั่ง และห้องประชุมท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ซึ่งมีขนาด 65 ที่นั่ง