• ภาควิชาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความรู้สู่ประชาชน


 

 จากกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ 
"เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง"
 

 


 

VDO ความรู้สู่ประชาชน

จัดทำโดย ภาควิชาปริทันตวิทยา

 
โรคปริทันต์ : สาเหตุและการป้องกัน
Periodontal Disease : Etiology and How to Prevent

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
ความสำคัญของอวัยวะปริทันต์
 
 

 

 "ความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์อักเสบกับโรคทางระบบ: โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคเบาหวาน"        
 “The association between Periodontitis and Systemic diseases: Atherosclerosis and Diabetes Mellitus”        
 (a Thai version, supported by Sunstar, Quintessenz, and Chulalongkorn Dental School)       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 (mRNA นวัตกรรมพลิกโฉมการรักษาคืนสภาพฟื้นฟูเนื้อเยื่อในโรคปริทันต์อักเสบ)        
  Innovative mRNA therapeutics for periodontal regeneration       

 

 

 

เหงือกดี ฟันดี เราช่วยได้
 

 

 "โรคปริทันต์" สามารถป้องกันได้หรือไม่

 

 

 

รายการออกสื่อ สิงพิมพ์ วิทยุ TV

 เพื่อให้ความรู้สู่ประชาชน ร่วมกับสื่อต่างๆ
 
วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565
เรื่อง 5 วิธีใช้น้ำยาบ้วนปากให้เกิดประโยชน์ จริงหรือ ?

โดย  ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์  อรัณยะนาค

รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ออกอากาศทางสำนักข่าวไทย ช่อง 9 MCOT

 
 
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565
 เรื่อง เตือนน้ำยาบ้วนปากที่ใช้แล้วฟันดำ จริงหรือ ?
โดย  ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์  อรัณยะนาค

รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ออกอากาศทางสำนักข่าวไทย ช่อง 9 MCOT
 
 
วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
เรื่อง ไม่แปรงฟันเสี่ยงโรคหัวใจสมองเสื่อม ? : ชัวร์หรือมั่ว

โดย อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย

รายการ “วันใหม่วาไรตี้” ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
 
 
 วันที่ 26 สิงหาคม 2564
เรื่อง "โรคเหงือกบวมเหงือกอักเสบเกิดจากอะไร"

โดย  ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์  อรัณยะนาค

 

รายการ ถาม หมอ มั้ย ล่ะ by DAZ 

 
 
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564
เรื่อง "สุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ"
โดย  ผศ.ทพญ.ดร.สุปรีดา  ศรีธัญรัตน์
 
 รายการ : ชาญชรา  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT ช่อง 11
 
 
 วันที่ 16 มิถุนายน 2564
 เรื่อง "เหงือกอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล่น!"
 โดย  อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ  เลิศพิมลชัย
 
 ออกอากาศผ่านช่อง youtube Anamai_NEWS (กรมอนามัย)
 
 
วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564
เรื่อง โรคเหงือกเป็นอย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ?
โดย อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย
ออกรายการเผยแพร่ให้ความรู้ทางเพจ Facebook “ฟันยังดี” กรมอนามัย
 
 
วันที่ 6 เมษายน 2564
เรื่อง "ยาสีฟันยอดนิยมแบบ Whitening ?"
โดย  อ.ทพญ.พิมพ์ชนก  สุทธิบุณยพันธ์
รายการ : คุยเก่ง  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
 
 
วันที่ 3 เมษายน 2557
เรื่อง  แค่ขูดหินปูนถึงตาย!! จริงหรือ ?

โดย  ผศ.ทพ.ขจร  กังสดลาพิภพ

รายการ : ตื่นมาคุย  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 


 ความรู้เรื่องฟัน และเหงือก
มาทำความรู้จักกับฟัน มาทำความรู้จักกับฟัน    
        และเหงือกก่อน ดีไหม !
 
   การดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งในการรับประทานอาหารนั้น ฟันนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากฟันทำหน้าที่จับหรือฉีก อาหาร บดเคี้ยวอาหาร และเป็นส่วนประกอบเพื่อความสวยงามของใบหน้าและใช้ในการพูด

มนุษย์มีฟันอยู่ ๒ ชุด

    ๑. ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มี ๒๐ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๐ ซี่ และฟันล่าง ๑๐ ซี่ เริ่มเห็นฟันซี่แรก ในปากเมื่อเด็กอายุ ๖ เดือน และจะขึ้นครบเต็มปากเมื่ออายุประมาณ ๒ ๑/๒ ขวบ ฟันน้ำนม ๒๐ ซี่นี้

ประกอบด้วยฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกราม ๘ ซี่ระยะการขึ้นและหลุดของฟันน้ำนม          

ฟันบน

ขึ้น

หลุด

ฟันหน้าซี่กลาง

๗ ๑/๒ เดือน

๗ - ๘ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๙ เดือน

๘ - ๙ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๘ เดือน

๑๑ - ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๑๔ เดือน

๑๐ - ๑๑ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๒๔ เดือน

๑๐ - ๑๒ ปี

 

ฟันล่าง

ขึ้น

หลุด

ฟันหน้าซี่กลาง

๖ เดือน

๖ - ๗ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๗ เดือน

๗ - ๘ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๖ เดือน

๙ - ๑๐ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๑๒ เดือน

๑๐ - ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๒๐ เดือน

๑๑ - ๑๒ ปี

     ๒. ฟันถาวร (ฟันแท้) เป็นฟันชุดสุดท้ายมี ๓๒ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๖ ซี่ และฟันล่าง ๑๖ ซี่ ฟันชุดนี้ มีฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกรามน้อย ๘ ซี่ ฟันกราม ๑๒ ซี่ ฟันแท้ซี่แรกเป็นฟันกราม ขึ้นเมื่ออายุ ๖ ปี ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายอาจขึ้นเร็วหรือช้า ง่ายหรือยากได้ต่าง ๆ กัน มีระยะเวลาการขึ้นจนกว่าจะเต็มซี่ ตั้งแต่อายุ ๑๘ - ๓๐ ปีระยะการขึ้นของฟันถาวร        

ฟันบน

ขึ้น

ฟันหน้าซี่กลาง

๗ - ๘ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๘ - ๙ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๑ - ๑๒ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑

๑๐ - ๑๑ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒

๑๐ - ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๖ - ๗ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๑๒ - ๑๓ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๓

๑๗ - ๒๑ ปี

 

ฟันล่าง

ขึ้น

ฟันหน้าซี่กลาง

๖ - ๗ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๗ - ๘ ปี

ฟันเขี้ยว

๙ - ๑๐ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑

๑๐ - ๑๒ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒

๑๑ - ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๖ - ๗ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๑๑ - ๑๓ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๓

๑๗ - ๒๑ ปี

 


 ฟัน               ฟันแต่ละซี่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตัวฟัน (Crown) และรากฟัน (Root)     

๑. ตัวฟัน คือ ส่วนที่สามารถมองเห็นได้ในปาก ซึ่งโผล่พ้นจากกระดูกขากรรไกรที่ฟันฝังตัวอยู่    

๒. รากฟัน คือ ส่วนที่มองไม่เห็น เนื่องจากฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและยังถูกคลุมทับด้วยเหงือกอีกด้วย ฟันบางซี่ที่ ๑ ราก เช่น ฟันหน้า และบางซี่มี ๒ หรือ ๓ ราก เช่น ฟันกรามบริเวณที่ตัวฟันพบกับรากฟันเรียก 

คอฟัน    

๑. ตัวฟัน (Crown) ประกอบด้วย    

๑.๑ เคลือบฟัน (Enamel)  เป็นส่วนชั้นนอกที่สุดที่ปกคลุมตลอดส่วนตัวฟันไปถึงคอฟัน เคลือบฟันนี้แข็งที่สุดในร่างกายทำหน้าที่ป้องกันเนื้อฟัน เคลือบฟันมีสีขาวอมเหลืองจนถึงขาวอมเทา และมีลักษณะโปร่งแสง ฉะนั้น การที่คนเรามีฟันขาวหรือเหลืองกว่ากัน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงของเคลือบฟันมากน้อยต่างกัน บางคนฟันเหลืองกว่าอีกคน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงมากกว่า จึงทำให้เห็นส่วนเนื้อฟันชั้นใน (Dentin) ซึ่งมีสีเหลืองได้ชัดเจนกว่าอีกคน    

๑.๒ เนื้อฟัน (Dentin)    มีสีเหลืองอยู่ใต้เคลือบฟัน มีตลอดทั้งส่วนตัวและรากฟัน เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของฟัน ซึ่งมีการสร้างเนื้อฟันเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต ซึ่งต่างกับเคลือบฟันที่ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้    

๑.๓ โพรงประสาทฟัน (Pulp Cavity)    เป็นช่องหรือโพรงอยู่ใจกลางตัวฟัน ช่องนี้ติดต่อกับคลองรากฟันด้วย โพรงประสาทฟันเป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อที่อยู่กันหลวม ๆ ประกอบด้วย เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟัน เส้นประสาทที่มาสู่ฟันและเซลล์ที่สร้างเนื้อฟันรวมทั้งหลอดน้ำเหลือง โพรงประสาทฟันทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากภายนอก และมี เนื้อเยื่อให้อาหารและความรู้สึกแก่เนื้อฟัน ซึ่งถ้ามีอันตรายจากภายนอกจะเป็นผลให้เกิดอาการปวดหรือเสียวฟันได้    

๒. รากฟัน (Root) ประกอบด้วย    

๒.๑ เคลือบรากฟัน (Cementum) มีสีเหลืองอ่อนเป็นส่วนชั้นนอกสุดของรากฟัน หุ้มรากฟันไว้ ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกัน แต่ทำหน้าที่เป็นที่ยึดของเอ็นปริทันต์ให้รากฟันติดกับกระดูก เคลือบรากฟันนี้ จึงอ่อนกว่าเคลือบฟัน (Enamel)    

๒.๒ เนื้อฟัน (Dentin) เหมือนกับเนื้อฟันซึ่งเป็นชั้นกลาง ในส่วนตัวฟัน อยู่ถัดจากเคลือบรากฟัน    

๒.๓ โพรงรากฟัน เรียก คลองรากฟัน (Root Canal) อยู่ใจกลางรากฟัน และติดต่อกับโพรง ประสาทฟัน ตรงปลายรากฟันจะเป็นรูเปิดให้คลองรากฟันติดต่อกับเนื้อเยื่อภายนอก รูเปิดนี้เป็นทางผ่านเส้นเลือด เส้นประสาท และหลอดน้ำเหลือง ซึ่งแยกมาจากร่างกายส่วนขากรรไกรและใบหน้า เส้นเลือดดำจะไปต่อกับเส้นเลือดดำใหญ่ภายนอกทำให้เลือดจากภายในฟันเข้าสู่วงจรโลหิตติดต่อกันทั่วร่างกาย ฉะนั้นถ้ามีฟันผุลึกถึงคลองรากฟันจะมีโอกาสให้เชื้อโรคกระจายไปสู่อวัยวะสำคัญได้ เช่น สมอง หัวใจ และไต เป็นต้น 

 


 อวัยวะรอบฟัน    รากฟันแต่ละซี่ ฝังแน่นอยู่ในกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเอ็นยึดปริทันต์ (Periodontal Ligament) ยึด จากเคลือบรากฟัน ไปยังกระดูกเบ้าฟัน นอกจากนั้นจะมีเหงือกรัดแน่นรอบคอฟันและหุ้มกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเส้นใยเหงือก (Gingival Fiber) รัดแน่นระหว่างเหงือกและฟัน เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรืออันตรายใด ๆ ผ่านเหงือกลงไปสู่อวัยวะข้างใต้ได้ แต่ระหว่างเหงือกกับฟันจะมีร่องลึก ๐.๕-๓ ม.ม. โดย รอบเรียกว่าร่องเหงือก (Gingival Sulcus หรือ Gingival Crevice) เหงือกปกติจะมีสีชมพูซีดรัดแน่นรอบ คอฟัน ถ้าคนทีมีสีผิวคล้ำเหงือกอาจมีสีคล้ำได้

    เหงือกแบ่งออกเป็น ๓ บริเวณ
    ๑. ขอบเหงือก (Marginal Gingiva) คือเหงือกส่วนที่ล้อมรอบคอฟัน เป็นส่วนผนังของร่องเหงือก มีลักษณะบางแนบกับคอฟัน
    ๒. เหงือกยึด (Attached Gingiva) คือเหงือกส่วนที่ยึดติดกับฟันและกระดูกเบ้าฟัน เหงือกส่วนนี้ต่อมาจากขอบเหงือก ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะข้างใต้ เหงือกยึดมีสีชมพูซึดและมีความกว้างตั้งแต่ ๑-๖ ม.ม.
    ๓. เหงือกสามเหลี่ยมระหว่างฟัน (Interdental Papilla) คือขอบเหงือกที่อยู่ระหว่างซี่ฟัน
 


โรคปริทันต์โรคปริทันต์คืออะไรและมีสาเหตุมาจากอะไร
    สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียฟันไปก่อนกำหนด คือ 
    ๑. โรคฟันผุ                
    ๒. โรคปริทันต์
    โรคฟันผุนั้นปรากฎอาการให้เห็น และรู้สึกได้ง่ายและเร็วกว่า "โรคปริทันต์" ฉะนั้นเราจึงรู้จัก โรคฟันผุดีกว่า บางคนอาจไม่รู้จักโรคปริทันต์ แต่ถ้าพูดว่า "โรคเหงือก โรครำมะนาด" อาจจะทำให้รู้จักมากขึ้น
    "ปริ"  แปลว่า  "รอบ ๆ"

   "ทันต์" แปลว่า  "ฟัน"  ดังนั้นโรคปริทันต์จึงหมายถึง โรคที่เกิดกับอวัยวะรอบฟัน นั่นคือเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน
    โรคปริทันต์ ในระยะแรก ๆ นั้นมักไม่ใคร่เจ็บปวด ฉะนั้นเราจึงอาจไม่ได้สังเกตุอาการที่เริ่มทีละน้อย เช่น เหงือกเริ่มบวดฉุ ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ หรือแม้แต่การที่มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน บางครั้งอาจนึกว่าอายุมากขึ้นเหงือกจะร่นขึ้นไปตามวัย ๔ ใน ๕ ของคนในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคปริทันต์ โดยที่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์เราสูญเสียฟัน โดยมีสาเหตุจาก "โรคปริทันต์" มากกว่าสาเหตุอื่น ๆ อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์ส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจพบและรีบรักษาในระยะแรก ๆ

 

สาเหตุที่สำคัญของโรคปริทันต์ คือ

    คราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque)คราบจุลินทรีย์ คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ซึ่งแม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากมายในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้าง กรด และสารพิษ กรด จะทำลายเคลือบฟันทำให้ ฟันผุ

    สารพิษ จะทำให้เหงือกอักเสบเกิด โรคปริทันต์ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มากโดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถจะเห็นและรู้สึกเมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน หินปูนหรือหินน้ำลาย  คือ คราบจุลินทรีย์ที่แข็งเนื่องจากมีธาตุแคลเซี่ยมจากน้ำตาลเข้าไปตกตะกอน อย่างไรก็ตามบนพื้นผิวของหินปูนยังมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมอยู่ ฉะนั้นหินปูนที่มีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมจึงเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ได้ หินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่หินปูนที่อยู่ในร่องเหงือกจะมองไม่เห็น โดยเหตุที่คราบจุลินทรีย์จะค่อย ๆ แข็งตัว ดังนั้นจึงควรกำจัดคราบจุลินทรีย์เสียก่อนที่จะแข็งเป็นหินปูน เพราะวิธีทำความสะอาดฟันด้วยตนเองนั้นไม่สามารถกำจัดหินปูนออกได้ ทันตแพทย์เท่านั้นที่สามารถกำจัดหินปูนออกได้

    อย่าลืมว่า "ท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์เหนียว ๆ ออกจากฟันไดด้วยตนเอง"

    แต่ "ท่านไม่สามารถเอาหินปูนออกเองได้ หรือเอาคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกออกได้"

สาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์

   1.  การมีเศษอาหารติดแน่นหรือค้างตามซอกฟัน และตัวฟัน เนื่องจาก

   2.  การมีขอบวัสดุอุดฟันเกินออกมา ทำให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และขัดขวางการทำความสะอาด เช่น ทำให้เส้นใยไนล่อนขาดระหว่างการทำความสะอาดซอกฟัน

   3.  การมีฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป หรือไม่ถูกต้อง เช่น การมีเหงือกอักเสบใต้ฟันปลอมที่หลวม

   4.  สาเหตุร่วมทางร่างกายที่ทำให้โรคปริทันต์เป็นรุนแรงขึ้น เช่นระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ และหมดประจำเดือน ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่อยู่ในวัยดังกล่าว ถ้ามีสภาพเหงือกที่แข็งแรงอยู่แล้ว จะไม่เป็นโรคปริทันต์ แต่ถ้ามีการอักเสบของเหงือกอยู่จะทำให้เป็นมากขึ้นกว่าปกติ

   5.  สาเหตุร่วมทางร่างกายอื่น ๆ อาจเกิดจากการขาดอาหารบางชนิด โรคทางด้านจิตใจ โรคลมบ้าหมู ซึ่งผู้ป่วยรับประทานยาพวก Dilantin (มีแนวโน้มทำให้เหงือกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรักษาความสะอาดไม่ดี) โรคเลือดต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายมีความต้านทานและการซ่อมแซมต่ำ เป็นต้น

 

ขั้นตอนการเกิดโรคปริทันต์

   ท่านมีอาการอย่างนี้บ้างหรือไม่   

    • เลือดออกขณะแปรงฟัน   
    • เหงือกบวมแดง
    • มีกลิ่นปาก
    • เหงือกร่นมีหนองออกจากร่องเหงือก
    • ฟันโยก

      ฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน ถ้าท่านมีอาการดังกล่าว แสดงว่า โรคปริทันต์ได้มาเยี่ยมเยียนท่านแล้ว ถ้าท่านละเลยการทำความสะอาดฟัน จะทำให้มีคราบจุลินทรีย์สะสมบนตัวฟันมากขึ้น ทำให้เกิดโรคปริทันต์ได้โรคปริทันต์นั้นขบวนการที่เกิดต่อเนื่องกัน แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงแยกออกเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้คือ

ขั้นที่ 1  เหงือกอักเสบ บวม แดง ปกติเหงือกจะมีสีชมพูซีด และรัดแน่นรอบคอฟัน มีร่องเหงือกลึกประมาณ 0.5-3 มม. การวัดความลึกของร่องเหงือกใช้เครื่องมือเรียก เครื่องมือตรวจปริทันต์ (Periodontal Probe) เมื่อมีคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นบนตัวฟัน โดยเฉพาะใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก ทำให้สารพิษซึ่งอยู่ในคราบจุลินทรีย์ซึมผ่านเข้าไปในเหงือกได้ จึงเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น การอักเสบทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับฟัน ทำให้คราบจุลินทรีย์สามารถเข้าไปในร่องเหงือกง่ายขึ้น และทำอันตรายมากขึ้น ร่างกายจะต่อสู้โดยส่งเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้หลอดเลือกบริเวณนั้นขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึงบวม แดง และมีการอักเสบ ดังนั้นเมื่อโดนแปรงหรือแรงกดใดเพียงเบา ๆ จะทำให้เลือดออกได้ การให้การรักษาที่ถูกต้องและการรักษาสุขภาพช่องปากอย่างดีในระยะแรกนี้ สามารถหยุดโรคเหงือกอักเสบนี้ได้อย่างสิ้นเชิง เหงือกสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้      

ขั้นที่ 2  ถ้าละเลยให้มีคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้น จะทำให้คราบจุลินทรีย์บุกรุกเข้าไปในร่องเหงือกมากขึ้นไปอีก ร่องเหงือกก็จะลึกยิ่งขึ้นเนื่องจากเกิดการทำลายของเส้นใยเหงือก ถ้าร่องเหงือกลึกเกิน 3 ม.ม. เรียกร่องเหงือกนั้นว่า ร่องลึกปริทันต์ (Periodontal Pocket) ซึ่งร่องลึกปริทันต์นี้ทำความสะอาดได้ยากมาก และจะทำความสะอาดเองไม่ได้เลย เมื่อคราบจุลินทรีย์เปลี่ยนเป็นหินปูน สารพิษจากคราบจุลินทรีย์ในร่องลึกปริทันต์ 4 ม.ม. สามารถทำลายกระดูกใกล้เคียงได้ การรักษาโดยการขูดหินปูนและทำให้รากฟันเรียบปราศจากสารพิษร่วมกับการทำความสะอาดฟันอย่างถูกต้องจะทำให้การดำเนินของโรคช้าลง หรือหยุดได้ แต่เหงือกและกระดูกไม่สามารถจะกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์     

ขั้นที่ 3 คราบจุลินทรีย์สะสมลึกมากขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน และร่องลึกปริทันต์จะเลื่อนไปทางปลายรากฟันมากขึ้น จะมีหนองเกิดภายในร่องลึกปริทันต์ซึมเข้าไปภายในช่องปาก ทำให้มีกลิ่นปาก การรักษาร่วมกับการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ยังคงหยุดการดำเนินของโรคในขั้นนี้ได้     

ขั้นที่ 4  ในขั้นนี้จะมีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟันไปประมาณครึ่งหนึ่ง และเหงือกจะร่นตามไปด้วย ทำให้เห็นฟันยาวขึ้นบางครั้งเหงือกจะไม่ร่นตามกระดูก แต่จะใหญ่ขึ้นเพราะมีการอักเสบระยะนานทำให้มักเข้าใจผิดไปว่าปกติ อันที่จริงแล้วมีโรคอยู่ข้างใต้ จะมีอาการปวด บวม เป็นฝี เนื่องจากการระบายหนองออกจากร่องลึกปริทันต์ติดขัดเมื่อฝีแตกก็จะหายปวด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะหายขาด จะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เช่นนี้ จนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีการละลายของกระดูกมากขึ้น ทำให้ฟันโยกมากขึ้นในที่สุดจะถึงขั้นที่ 5     

ขั้นที่ 5  ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย เนื่องจากมีการละลายของกระดูกเบ้าฟันมากจนเกือบถึงปลายรากฟัน โยกมาก เพราะไม่มีกระดูกมายึดไว้ซึ่งในขั้นนี้ไม่สามารถให้การรักษาใด ๆ ได้ นอกจากต้องถอนฟันซี่นั้นไป

 

ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้หรือไม่ ?        

             เนื่องจากคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างถูกต้อง ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้แน่นอน โรคปริทันต์จะไม่เกิดขึ้น ถ้าท่าน

            1.   แปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันอย่างถูกต้องเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์

            2.   พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่หลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ มีฟันผุหรือไม่ จะได้รับการรักษาได้ในระยะเริ่มแรก

 

การป้องกันโรคปริทันต์

ทำอย่างไรท่านจึงจะมีฟันและเหงือกที่มีสุขภาพดีตลอดไป ?

             ฟันและเหงือกจะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ จะต้องปราศจากคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ซึ่งเกิดขึ้นในช่องปากทุกวัน ท่านจะต้องมีวิธีการที่ถูกต้องที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์นั้น ๆ ซึ่งวิธีการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ในระยะแรก ๆ อาจทำให้เบื่อหน่าย เมื่อย ใช้เวลามาก แต่ขอให้ระลึกเสมอว่าถ้าไม่สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ด้วยตนเองแล้ว ท่านจะหนีโรคปริทันต์ไม่พัน ฉะนั้นจึงควรมีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะเริ่มศึกษาและฝึกฝนวิธีการกำจัดคราบจุลินทรีย์ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

    วิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ ประกอบด้วย3

      • การทำความสะอาดฟัน นั่นคือ การแปรงฟัน

      • การทำความสะอาดซอกฟันรวมทั้งการนวดเหงือก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การใช้เส้นใยขัดฟัน (Flossing) ปุ่มยางนวดเหงือก (Rubber Tip) แปรงระหว่างซอกฟัน (Proxa Brush, Interdental Brush) ผ้าก๊อซ (Gauze Strip) ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent)

 

การแปรงฟัน        

ปัจจุบันทานแปรงฟันของท่านแบบไหน ?

           แปรงขึ้น ๆ ลง ๆ หรือแปรงขวางไปตามแนวราบ ถ้าท่านแปรงด้วยวิธีดังกล่าว ควรเปลี่ยนวิธีเสีย เพราะการแปรงขึ้น ๆ ลง ๆ ทำอันตรายต่อเหงือกของท่าน ทำให้เหงือกร่นหรือถ้าแปรงขวางจะทำให้ฟันสึก โดยเฉพาะเมือท่านใช้แปรงแข็งและใช้ยาสีฟันที่หยาบ เป็นผง ก่อนอื่นท่านควรรู้จักลักษณะที่ถูกต้องของแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สีย้อมคราบจุลินทรีย์

แปรงสีฟัน ส่วนใหญ่คนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าขนแปรงสีฟันยิ่งแข็งยิ่งดี เพราะสามารถกำจัดสิ่งสกปรกออกได้ดี ซึ่งที่จริงกลับทำอันตรายต่อเหงือกและฟันเป็นอย่างยิ่ง

แปรงสีฟันที่ดีควรจะมีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม ทำด้วยไนล่อน เพราะมีลักษณะและขนาดเหมือนกันหมด ส่วนปลายของเส้นไนล่อนมนและเรียบเพื่อไม่ให้บาดเหงือก นอกจากนี้ยังคงสภาพเดิม มีสปริงดีเมื่อถูกน้ำ และรักษาความสะอาดได้ง่าย หัวแปรงควรมนกรม มีขนาดเล็กพอเหมาะ และสามารถทำความสะอาดได้ทุกบริเวณในปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้ามแปรงควรตรงและยาวพอเพื่อการจับที่มั่นคง อายุการใช้งานของแปรงควรใช้ประมาณ 3 เดือน หรือเมื่อรูปร่างของขนแปรงบิดเบี้ยว หรือบานจากปกติ หลังการใช้แปรงทุกครั้งต้องล้างให้สะอาดและผึ่งไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และสะอาด

แปรงสีฟันไฟฟ้า มีอยู่หลายชนิด และมีวิธีการใช้ต่างกัน ซึ่งผู้ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้องจึงจะมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์มักแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า สำหรับผู้ที่ไม่สามรถใช้มือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นผู้ป่วยเป็นโรคปวดตามข้อ คนพิการ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่สามรถแปรงด้วยตนเองได้ เด็กเล็ก ๆ และที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน

ยาสีฟัน ในการแปรงฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์นั้น วิธีการแปรงฟันอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ยาสีฟันเป็นเพียงส่วนช่วยในการทำความสะอาดและขัดพื้นผิวฟัน และเป็นสื่อกลางในการใส่สารต่าง ๆ เช่นฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ สารลดการเสียวฟัน สารลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนเป็นต้น แต่การที่ใส่สารเคมีหรือสมุนไพรบางชนิดเพื่อป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ หินปูน และอาการเหงือกอักเสบนั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสีฟันประเภทขัดฟันขาว (Whitening Toothpaste) และขัดคราบบุหรี่ ยาสีฟันประเภทนี้ถ้ามีผงขัดหยาบกว่าปกติหรือผสมผงขัดมากกว่ปกติมีคุณสมบัติ ขัดผิวเคลือบฟันสูงกว่ายาสีฟันธรรมดา ซึ่งถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจมีผลทำให้ผิวเคลือบฟันบางลงและเสียวฟันได้ นอกจากนี้ยาสีฟันที่ช่วยทำให้ฟันขาวขึ้นอาจผสมสารเคมีประเภท Peroxide เพื่อช่วยฟอกสีฟันให้ขาวขึ้น ดังนั้นในการใช้ยาสีฟันนี้จึงควรได้รับการแนะนำและดูแลจากทันตแพทย์อย่างดี เพราะสาร Peroxide มีฤทธิ์กัดกร่อน อาจทำอันตรายต่อเหงือก และทำให้เสียวฟันได้ การที่มีฟันเหลือง ฟันสีน้ำตาล ฟันตกกระ ฟันเปลี่ยนสี ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามยาสีฟันที่ใช้ควรเป็นครีมที่ละเอียด ไม่ควรหยาบหรือเป็นผงเพราะจะทำให้ฟันสึก การใส่ยาสีฟันควรใส่ลงไประหว่างขนแปรง เพื่อให้ยาสีฟันได้สัมผัสกับตัวฟัน ไม่ใส่บนขน แปรงเพราะยาสีฟันจะหลุดออกไปเสียก่อน

วิธีการแปรงฟัน การแปรงฟันเป็นขั้นตอนสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก เพราะเป็นวิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคปริทันต์ การแปรงฟันมีหลายวิธี แต่ยังไม่มีวิธีใดเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน จากการศึกษาพบว่าในการสอนแปรงฟันในชุมชนนั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงใมนการทำความสะอาดเหงือกและตัวฟัน โดยเฉพาะในร่องเหงือก และใช้เวลาน้อยนั้น คือวิธีมอดิฟายด์แบส (Modified Bass Method) ซึ่งต้องใช้แปรงขนอ่อน (Soft) และมีขั้นตอน ดังนี้

          วางแปรงที่บริเวณคอฟันและขอบเหงือก ขนแปรงทำมุม 45 องศา กับแกนยาวของฟัน ชี้เฉียงไปทางปลายรากฟัน

          กดปลายของขนแปรงให้เข้าไปในร่องเหงือกและซอกฟันออกแรงสั่นเบาๆ ตามแนวราบด้วยระยะทางสั้น ๆ กลับไปกลับมาโดยที่ขนแปรงยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเน้นการแปรงที่บริเวณคอฟันที่อยู่ชิดขอบเหงือก ซึ่งเป็นจุดสำคัญ และเป็นการนวดเหงือกด้วย

          จากนั้นจึงค่อยบิดข้อมือให้ขนแปรงม้วนปัดมาทางด้านบดเคี้ยวของฟัน ทำดังนี้ซ้ำ ๆ กัน ตำแหน่งละ 6 ครั้ง

เนื่องจากบริเวณฟันหน้าและฟันเขี้ยวเป็นตำแหน่งความโค้งของกระดูกขากรรไกร ดังนั้นเมื่อแปรงฟันหน้าและฟันเขี้ยวด้านใน จึงต้องวางแปรงดังรูปที่ 16 แต่หลักการแปรงเหมือนที่กล่าวมาแล้ว

          สำหรับการแปรงฟันด้านบดเคี้ยว ให้วางแปรงตั้งฉากกับด้านบดเคี้ยวของฟันแล้วถูกเข้าถูออกเป็นช่วงสั้น ๆ

          นอกจากนี้ความทั่วถึงในการแปรงฟันมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าจะแปรงถูกวิธีแต่ละเลยบางตำแหน่งไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการแปรงฟันไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นจึงควรเริ่มแปรงที่ด้านนอกของฟันบนและฟันล่างให้หมด แล้วจึงเริ่มต้นแปรงด้านในของฟันบนและล่าง จากนั้นจึงแปรงด้านบดเคี้ยวและควรแปรงลิ้นด้วยเพื่อกำจัดคราบต่าง ๆ ที่สะสมบนลิ้น เนื่องจากบริเวณลิ้นมีตุ่มรับรสเล็ก ๆ อยู่มากทำให้มีซอกเล็ก ๆ บนลิ้นซึ่งจะเป็นที่เก็บกักเชื้อโรคได้

          ท่านควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือเช้า และก่อนนอน การแปรงฟันก่อนนอนเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง เพราะระหว่างการนอนจะไม่มีการเคลื่อนไหวภายในช่องปาก ทำให้คราบจุลินทรีย์มาสะสมบนตัวฟันมาก การเคลื่อนไหวภายในช่องปาก เช่นการเคี้ยวอาหาร การพู จัดเป็นขบวนการทำความสะอาดเองโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้งหลังอาหาร

 

การทำความสะอาดซอกฟัน

           โรคปริทันต์ที่รุนแรงมักเกิดบริเวณซอกฟัน ซึ่งแปรงไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ จึงมักมีผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ทั้ง ๆ ที่แปรงฟันอย่างดี แต่มิได้ทำความสะอาดซอกฟันการทำความสะอาดซอกฟัน มีหลายวิธีซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเหงือกของแต่ละคน

1.   การใช้เส้นใยขัดฟัน (Flossing) เป็นวิธีทำความสะอาดซอกฟันที่ดีวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีเหงือกปกติโดยมีเหงือกสามเหลี่ยมอยู่เต็มระหว่างซอกฟัน ไม่มีเหงือกร่น การใช้เส้นใยขัดฟัน ควรใช้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งชนิดของเส้นใย มี แบบเคลือบขี้ผึ้ง (Waxed) ซึ่งเหมาะที่ใช้กับฟันที่สัมผัสกันไม่แน่นมาก และแบบไม่เคลือบขี้ผึ้ง (Unwaxed) เหมาะสำหรับฟันที่สัมผัสกันแน่นมาก และสำหรับผู้ที่เริ่มใช้ครั้งแรก อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แบบ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันถ้าใช้อย่างถูกต้อง การใช้เส้นใยถ้าใช้ไม่ถูกจะทำอันตรายต่อเหงือก ปกติเส้นใยไม่ควรขาดขณะใช้ แต่ถาเส้นใยขาดอยู่เสมอบริเวณใด แสดงว่าฟันที่อุดไว้บริเวณนั้นมีปัญหา ควรรีบแก้ไข 

วิธีใช้เส้นใย ดึงเส้นใยมายาว 12-15 นิ้ว พันปลายยึดไว้กับนิ้วกลาง 2 ข้าง จนกระทั่งเหลือความยาวของเส้นใยระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ 4-5 นิ้ว ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วควบคุมบังคับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดในการขัดทำความสะอาดซอกฟันแต่ละตำแหน่งในช่องปาก เริ่มต้นด้วยการดึงเส้นใยให้ตึงค่อย ๆ ถูไปมาให้ผ่านจุดสัมผัสของฟัน ห้ามใช้แรงกดผ่านจุดสัมผัสโดยตรง เพราะอาจยั้งมือไม่อยู่และบาดเหงือกได้ เมื่อผ่านจุดสัมผัสเข้าไปอยู่ระหว่างฟันสองซี่แล้ว โอบเส้นใยให้แนบกับด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง ใช้นิ้วบังคับให้เส้นใยขัดจากขอบเหงือกมาด้านบดเคี้ยวแล้วกลับมาวางตั้งต้นที่ขอบเหงือกใหม่ ก่อนที่จะขัดไปทางด้านบดเคี้ยวอีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้ซ้ำฟัน 6 ครั้ง ระหว่างจัดสัมผัสและขอบเหงือก วัตถุประสงค์ของการที่ให้เส้นใยโอบฟัน เพื่อให้แรงถ่ายทอดลงบนตัวฟันโดยตรง ไม่ไปบาดเหงือกและเพื่อให้เส้นใยครอบคลุมพื้นที่ได้มาก เมื่อขัดด้านข้างของฟันซี่หนึ่งเสร็จแล้วจึงหันมาโอบด้านข้างของฟันอีกซี่หนึ่ง ขัดเหมือนเดิม 6 ครั้ง ทุก ๆ ซอกฟัน จะต้องขัด 2 ด้านด้วยกัน ด้านข้างของฟันซึ่งปราศจากซี่ข้างเคียงก็ควรต้องขัดเช่นเดียวกัน บางคนใช้เครื่องจับเส้นใยสำเร็จ (FlossHolder) แทนการพันนิ้วมือ แต่ผลการใช้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่สามารถโอบรอบซี่ฟันทำให้บาดเหงือกเป็นร่องได้ การใช้นิ้วมือมีประสิทธิภาพดีกว่ามากถ้าใช้ถูกวิธี

2.  การใช้เส้นใยขัดฟันพิเศษ (Superfloss) เส้นใยขัดฟันพิเศษ คือ เส้นใยขัดฟันที่ใช้บริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน (ฟันครอบชนิดติดแน่น) 

วิธีใช้ สอดส่วนปลายที่แข็งผ่านซอกฟันที่ใส่ไว้ แล้วดึงส่วนที่เป็นฟองน้ำมาโอบแนบด้านข้างของฟันที่ครอบโดยใช้นิ้วบังคับขัดจากของเหงือกไปด้านบดเคี้ยว 6 ครั้ง จากนั้นใช้ฟองน้ำทำความสะอาดใต้สะพานฟันที่ใส่ แล้โอบแนบเพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่ครอบอีกซี่หนึ่ง ส่วนเส้นใยที่เหลือใช้ทำความสะอาดซอกฟันเช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟันปกติ

ท่านอาจใช้ห่างพลาสติกคล้องเส้นใยขัดฟัน (Floss Threader) เพื่อทำความสะอาดบริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน ได้เช่นกัน

3.  ปุ่มยางนวดเหงือก(Rubber tip) นอกจากการใช้เส้นใยขัดฟันในการทำความสะอาดซอกฟันแล้วยังสามารถใช้ปุ่มยางนวดเหงือกได้ ในกรณีที่เหงือกปกติ มีเนื้อเหงือกเต็มระหว่างซอกฟัน

           วิธีใช้วางปุ่มยางนวดเหงือกให้ปลายเฉียงไปทางด้านบดเคี้ยวเบนให้มาแนบด้านหนึ่งของซอกฟัน แล้วถูมาทางด้านบดเคี้ยว 3 ครั้ง จากนั้นเบนมาให้แนบชิดกับอีกข้างหนึ่งของซอกฟันเดียวกัน แล้วถูกมาทางด้านบดเคี้ยวอีก 3 ครั้ง ทำเช่นเดียวกันนี้ทุกซอกฟันทั้งด้านกระพุ้งแก้มและด้านลิ้น

4.   แปรงระหว่างซอกฟัน (Proxa Brush, Interdental Brush) สำหรับผู้ที่มีช่องระหว่างฟัน คือมีเหงือกสามเหลี่ยมระหว่างซอกฟันร่น หรือไม่มีฟันข้างเคี้ยว หรือด้านหลังของฟันซี่สุดท้าย สามารถใช้แปรงระหว่างซอกฟัน ซึ่งมี 2 แบบ คือ Proxa Brush ซึ่งมีด้ามและ Interdental Brush ไม่มีด้ามยาวจับมีลักษณะคล้ายแปรงล้างขวดขนาดเล็ก

        วิธีใช้ สอดแปรงเข้าไประหว่างช่องว่างระหว่างซี่ฟัน จากนั้นวางแปรงบนเหงือกให้แนบด้านหนึ่งของซอกฟัน แล้วถูเข้าถูออก ประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วเบนแปรงมาแนบอีกด้านหนึ่งถูเข้าถูออก 3-4 ครั้ง ทำเช่นนี้กับซอกฟันที่มีช่องว่างโดยเข้าจากด้านกระพุ้งแก้มและเข้าจากด้านลิ้นด้วย ถ้าใช้ Proxa Brush จะเข้าได้ทั้ง 2 ด้าน ส่วน Interdental Brush นั้น ใช้เข้าจากด้านกระพุ้งแก้มเท่านั้น

5.   ผ้าก๊อซ (Gauze Strip) ท่านสามารถใช้ผ้าGauze ตัดกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ทำความสะอาดซอกฟันที่ช่องว่างระหว่างฟัน หรือฟันที่ไม่มีฟันข้างเคียงได้ เช่นกัน โดยมีวิธีใช้เช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟัน

6.   ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent) ไม่จิ้มฟันที่มีขายอยู่ในตลาดทั่วไปนั้น เป็นไม้จิ้มฟันที่ไม่ถูกลักษณะ ไม่ควรใช้เพราะไม่สามารถทำความสะอาดกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้และมักเป็นอันตรายต่อเหงือก เพราะแข็งเกินไปและมีลักษณะไม่ถูกต้อง ถ้าใช้นาน ๆ และแรง ๆ นอกจากจะทำอันตรายเหงือกแล้ว จะทำให้ฟันห่างได้ ท่านสามารถใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเศษอาหารออกเบา ๆ ได้ ไม่ควรใช้แรงแคะหรืองัดเพื่อกำจัดเศษอาหาร ถ้าเศษอาหารติดแน่นระหว่างซอกฟัน ต้องหาสาเหตุและรีบแก้ไข เช่น ฟันผุซอกฟัน ฟันที่อุดหรือครอบไว้ไม่ดี เป็นต้น

ไม้ที่ทันตแพทย์แนะนำเพื่อใช้กำจัดคราบจุลินทรีย์ระหว่างซอกฟันและนวดเหงือกนั้น ควรเป็นรูปสามเหลี่ยม (มองจากด้านตัด) เพื่อให้มีรูปร่างให้เข้าตามช่องว่างระหว่างฟันและเหงือกได้ และควรจะต้องเป็นไม้อ่อน โดยมากทำจากไม้สีดา เรียกไม้ชนิดนี้ว่า ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent)

วิธีใช้สอดไม่นี้ระหว่างซอกฟันที่มีช่องว่างระหว่างกัน โดยให้ฐานของสามเหลี่ยมอยู่ที่เหงือกและด้านข้างแนบกับด้านหนึ่งของซอกฟันแล้วถูเข้าออก 4-5 ครั้ง ทำเช่นนี้ทุกช่องที่มีช่องว่างระหว่างฟัน

7.   เครื่องฉีดทำความสะอาดในปาก (Oral Irrigating Device) เป็นเครื่องมือที่ใช้แรงดันของน้ำฉีดเข้าทำความสะอาดซอกฟันกำจัดเศษอาหารซึ่งมักใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟันและใส่ฟันติดแน่น สิ่งสำคัญที่ควร

ทำความเข้าใจอย่างยิ่งคือ เครื่องมือนี้ ไม่สามารถใช้แทนการแปรงฟันหรือการใช้เส้นใยขัดฟัน เพราะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ นอกจากนี้ถ้าแรงดันน้ำสูงเกินไปอาจทำอันตรายต่อเหงือกได้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ ผู้ใช้จึงควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทของเครื่องมือทำความสะอาดซอกฟันที่เหมาะสมและอธิบายวิธีใช้ให้แก่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

แปรงกระจุกเดียว (Single Tufted Brush) เป็นแปรงที่ใช้ในผู้ที่มีฟันเก ฟันล้มเอียง ด้านในของฟันล่างและใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน วิธีใช้กวาดขนแปรงไปตามคอฟัน โดยใช้หลังจากการแปรงฟันปกติที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อถึงซอกฟันจึงขยับขนแปรงอยู่กับที่ แล้วปัดไปดานบดเคี้ยว ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ที่ต้องการ

ในปัจจุบันมีการฝังรากเทียมกันอย่างแพร่หลาย การทำความสะอาดรอบรากเทียมสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ยกเว้นเครื่องมือมีคมหรือมีส่วนของโลหะที่อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนขนผิววัสดุรากเทียมและกลายเป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่ายขึ้น

สีย้อมคราบจุลินทรีย์ (Disclosing Agent)

ในการกำจัดคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันนั้น ถ้าใช้สีย้อมคราบจุลินทรีย์จะทำให้สามารถทดสอบได้ว่าท่านแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกได้หรือไม่ ส่วนที่มักจะติดมากที่สุดคือบริเวณคอฟัน สีนี้จะมีส่วนผสมของสีที่ทำจากพืชและไม่จับตัวฟันที่สะอาด สีมีในรูปเม็ดและน้ำ ถ้าเป็นเม็ดให้เคี้ยวแล้วตวัดลิ้นไปตามตัวฟันให้ทั่ว แล้วบ้วนน้ำทิ้ง ถ้าเป็นน้ำใช้จุ่มสำลีทาบนตัวฟัน แล้วบ้วนน้ำทิ้ง จากนั้นใช้กระจกส่องในปากแล้วตรวจดูว่าสีติดบริเวณใดแล้วกำจัดสีที่ติดฟันออกให้หมด หรือจะใช้สีย้อมหลังจากการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันแล้วก็ได้ เพื่อดูว่าบริเวณใดบนตัวฟันที่ยังติดสีอยู่ ให้กำจัดคราบจุลินทรีย์ที่ติดสีบริเวณนั้น ไม่ต้องพยายามกำจัดสีที่ติดเหงือก เพราะจะทำให้เหงือกเป็นอันตรายได้ สีนี้จะจางไปในระยะเวลาสั้น

ยาอมบ้วนปาก

การโฆษณาถึงสรรพคุณของยาอมบ้วนปาก ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุว่าสามารถป้องกันกำจัดกลิ่นปากได้นั้น เป็นโฆษณาที่ไร้เหตุผล เพราะสาเหตุของกลิ่นปากนั้นมีหลายอย่าง นอกจากปัญหาทางร่างกาย (เช่น โรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ เป็นต้น) แล้วยังมีปัญหาที่สำคัญอื่น ๆ คือ ฟันผุ มีคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารหมักหมม การเป็นโรคปริทันต์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ฉะนั้นต้องหาสาเหตุให้พบเพราะปัญหาใดถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ยาอมบ้วนปากสามารถทำให้ปากหอมได้ในระยะเวลาสั้น และการใช้ยาบ้วนปากนาน ๆ จะทำให้เกิดฝ้าขาว ซึ่งอาจเป็นเชื้อราขึ้นในปากได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาบ้วนปากมีประสิทธิภาพในการทำลายจุลินทรีย์บางชนิด อาจทำให้เสียสมดุลของเชื้อโรคที่มีมากในช่องปาก เชื้อราจึงมีอำนาจมากขึ้นทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ ดังนั้นการใช้ยาอมบ้วนปากจึงควรใช้ เมื่อแพทย์หรือทันตแพทย์สั่งเท่านั้น เช่น มีอาการเจ็บคอ ปากเป็นแผล ภายหลังผ่าตัดเหงือก กรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่ฟันผุง่าย หรือหลังการฉายรังสีรักษามะเร็งในช่องปาก เป็นต้น ในปัจจุบันมียาบ้วนปากที่ผสมสารเคมีหรือสมุนไพรเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูน หรืออาการเหงือกอักเสบ แต่ยังต้องการการวิจัยยืนยันต่อไปโดยเฉพาะผลในระยะยาว การป้องกันหรือกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดคือ การแปรงฟัน และการทำความสะอาดซอกฟันที่ถูกต้องและเหมาะสม

การรักษาโรคปริทันต์

โรคปริทันต์นั้นมักไม่เจ็บปวด เมื่อเป็นระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงต้องให้ความสนใจมากพอควร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียอันเนื่องจากโรคปริทันต์ อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และแม้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

การรักษาโรคปริทันต์นั้น แบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

1.   การสอนให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ให้ผู้ป่วยรู้จักโรคปริทันต์ การเกิด สาเหตุและวิธีป้องกัน ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในการทำความสะอาดฟันและซอกฟัน ตามวิธีที่ทันตแพทย์อธิบาย ทั้งนี้เพราะการรักษาโรคปริทันต์นั้นต้องมีการร่วมมืออย่างดีระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์ เพราะคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์นั้นเกิดขึ้นในช่องปากของผู้ป่วยทุกวัน เป็นไปไม่ได้ที่ทันตแพทย์จะกำจัดคราบนั้นให้ผู้ป่วยได้ทุกวัน ฉะนั้นการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นกับความสามารถของทันตแพทย์ครึ่งหนึ่งและขึ้นกับความสามารถของผู้ป่วยในการรักษาความสะอาดฟันครึ่งหนึ่ง

2.   การขูดหินปูน (Scaling)กำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูน และสิ่งสกปรกในร่องเหงือก ร่องลึกปริทันต์ (ร่องเหงือกที่ลึกกว่า 3 ม.ม.) นั่นคือต้องขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือกจากนั้นทำรากฟันให้เรียบ (Root Planing) ปราศจากสารพิษใด ๆ เพื่อให้เส้นใยเหงือกและเอ็นยึดปริทันต์กลับยึดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม

ดังนั้น การขูดหินปูนให้หมดจริง ๆ จึงต้องใช้เวลาพอสมควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ความแข็งแรงของหินปูน เป็นต้น

หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพปกติหรือยัง มีเลือดออกเวลาแปรงฟันและเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์หรือไม่ ความลึกของร่องลึกปริทันต์ตื้นขึ้นหรือเข้าสู่สภาวะปกติหรือไม่ ถ้ายังมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรจะทำการผาตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับความร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลยไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับเป็นโรคปริทันต์ได้อีก

3.   การทำศัลยปริทันต์ (Periodontal Surgery)

ในกรณีผู้ป่วยร่วมมือดีและร่างกายแข็งแรง แต่ยังมีร่องลึกปริทันต์อยู่ ซึ่งถ้าร่องเหงือกเกิน 3 ม.ม. นั้น แม้ผู้ป่วยจะร่วมมือทำความสะอาด อย่างไรก็ตามไม่สามารถทำความสะอาดร่องลึกนั้นได้เอง ซึ่งถ้าทิ้งไว้จะทำให้อาการของโรคปริทันต์เกิดขึ้นได้อีก ฉะนั้นทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคปริทันตวิทยา (Periodontist) จะเป็นผู้ทำการผ่าตัดรักษาต่อไป เพื่อกำจัดร่องลึกปริทันต์นั้นให้ลึกเท่าปกติคือประมาณไม่เกิน 3 ม.ม. ให้เหงือกกลับสู่สภาพที่แข็งแรง รัดแน่นรอบตัวฟัน และมีการสร้างเส้นใยเหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันที่แข็งแรงได้ ในปัจจุบันมีวิทยาการก้าวไกลทั้งวิธีการผ่าตัด วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสร้างคืนอวัยวะปริทันต์ที่สูญเสียไป และสามารถที่จะทำศัลยกรรมตกแต่งเหงือกของท่านได้ เช่นปิดเหงือกร่นเนื่องจากการแปรงฟันผิดวิธี ตกแต่งเหงือกที่ใหญ่เกินไปทำให้ทำความสะอาดได้ยาก หรือเติมสันเหงือกที่ยุบได้ ทั้งนี้มิใช่ทำได้ทุกกรณี ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อกำจัดหรือลดร่องลึกปริทันต์ ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ใส่ในร่องลึกปริทันต์โดยมีรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยังต้องการวิจัยต่อไปอีก

4.   การบำรุงรักษา(Maintenance)

เป็นสิ่งจำเป็นมาก ผู้ป่วยควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจสภาพเหงือกและฟันหลังการรักษาและควรร่วมมือในการรักษาความสะอาดฟันและอวัยวะในช่องปาก โดยการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอในระยะแรกหลังการขูดหินปูนหรือการผ่าตัดควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้อย่างดี และไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูน ภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย ถ้าผู้ป่วยยอมรับการบำรุงรักษาเหงือกและฟันโดยกลับมาตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์แนะนำ ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์มากมาย โดยที่ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวอาหารได้อย่างสบาย ยิ้มและพูดด้วยความมั่นใจ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่ารักษาในอนาคตลงได้อย่างมากสรุป

ท่านสามารถป้องกันโรคฟันผุและโรคปริทันต์ได้โดยกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากของท่านด้วยการ

1.   แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอก การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมากแต่ถ้ายังไม่สามารถกระทำได้ ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร

2.   ทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

3.   หลีกเลี่ยงอาหารหวาน ๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ

4.   พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่หลงเหลือจากการทำความสะอาดของท่านเองและรับการรักษาระยะเริ่มแรกก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่านไปเนื่องจากโรคฟันผุ และโรคปริทันต์ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ท่านจะมีสุขภาพฟันและเหงือกที่ดีตลอดไป...


ความรู้อื่นๆเกี่ยวกับช่องปากและฟัน

เบาหวานกับโรคเหงือกอักเสบ

เราพบว่าโรคเบาหวานไม่ได้เป็นโรคเดี่ยวๆมันสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและมีความซับซ้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกาย เบาหวานสามารถทำให้คุณเสี่ยงต่อการมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ รวมถึงโรคปริทันต์ด้วย โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจุลินทรีย์อย่างเรื้อรัง และส่งผลให้มีการอักเสบของเหงือกและการทำลายของกระดูกที่รองรับฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาฟันก็จะโยกและหลุดออกไป การศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ถึง 4.2 เท่า เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆอยู่แล้ว การศึกษาวิจัยยังพบอีกด้วยว่าโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ต่อโรคปริทันต์ โรคปริทันต์ยังช่วยเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือด เป็นผลให้การควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานยากยิ่งขึ้น เฉพาะการรักษาควรทำควบคู่กันไปทั้งสองโรค จากการทดลองพบว่าการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรค ปริทันต์ด้วยยาปฏิชีวนะจะทำให้การใช้ อินซูลินลดลง เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ในปริมาณที่ดี ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ของผู้ป่วยเบาหวานก็จะไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน จากการศึกษาที่ได้ลงตีพิมพ์ใน วารสารทางทันตแพทย์ พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะส่งผลให้การตอบสนองของเชื้อจุลินทรีย์ ต่อเหงือกต่างจากผู้ป่วยที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลนอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะมีการสะสมของ โปรตีนที่เป็นอันตรายต่อเหงือก, เเละกระดูกรองรับฟันที่บริเวณเหงือกซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม

อย่างไรก็ตามท่านสามารถให้ทันตแพทย์เฉพาะทางที่รักษาโรคเหงือกตรวจสภาพในช่องปาก หรือให้คำแนะนำต่อท่านได

สัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพในช่องปากที่คุณควรรู้

แพทย์ส่วนมากมีความเชื่อว่าอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะป้องกันได้ถ้ามีการควบคุมโรคเบาหวานที่ดีและนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าสุขภาพในช่องปากบอกอะไรคุณได้บ้าง สัญญาณและอาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสุขภาพในภาพช่องปากเพราะมันแสดงถึงอาการของโรคเบาหวานที่จะปรากฏออกมาหรือในกรณีที่คุณไม่มีการควบคุมโรคเบาหวานที่ดีพอ

สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการผิดปกติในช่องปากก็คือ

1.   มีเลือดออกเมื่อแปรงฟันหรือเมื่อใช้ไหมขัดฟัน

2.   เหงือกบวมแดง

3.   เหงือกร่น

4.   ปากแห้ง

ถ้าคุณอยากพบอาการเหล่านี้คุณควรไปพบทันตแพทย์แต่ในบางครั้งโรคเหงือกอักเสบจะไม่มีอาการที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัดดังนั้นการได้รับการตรวจสภาพเหงือกโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่รักษาโรคเหงือกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

อนามัยในช่องปากที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคเหงือกอักเสบ การป้องกันนี้รวมถึงการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันที่ถูกต้องทุกวัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ระหว่างซอกฟัน รวมถึงการพบทันตแพทย์เพื่อรับการขูดหินปูน ปีละ 2 ครั้งก็จะช่วยให้หินปูนถูกกำจัดออกจากบริเวณที่แปรงหรือไหมขัดฟันไม่สามารถเข้าถึง

มะเร็งในช่องปาก

มะเร็งที่ปากสามารถส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ภายในช่องปาก รวมถึง ริมฝีปาก, เนื้อเยื่อเหงือก, ลิ้น, แก้ม, ลำคอ และที่เพดานแข็งเพดานอ่อนเราสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไรจากการเป็นมะเร็งในช่องปาก

เท่าที่พบมะเร็งนั้นมีได้หลายระยะและการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะเป็นผลดีต่อการรักษาโดยการสละเวลาสัก 2-3นาที ในการสังเกตความผิดปกติของ ริมฝีปาก, เหงือก, แก้ม, ลิ้น, ลำคอ และควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ทันทีที่พบอาการเหล่านี้ เช่น

1.   มีอาการเจ็บที่ริมฝีปากหรือในปากที่ไม่หายและมีเลือดออกง่าย หรือมีการหลั่งสารจากภายใน

2.   มีก้อนขึ้นที่ริมฝีปาก, ในปากหรือในลำคอ

3.   ปากและริมฝีปากไม่มีความรู้สึกและยากแก่การเคลื่อนไหว

4.   มีจุดสีขาว, แดงหรือดำเกิดขึ้นที่เหงือก, ลำคอ, ลิ้น

5.   มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นบ่อยๆหรือมีอาการระคายคอ

6.   มีอาการเจ็บเวลาเคี้ยวหรือกลืนอาหาร

7.   เสียงเปลี่ยนไป

8.   มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งฟันอาจอยู่ชิดกันหรืออยู่ห่างกันมากเกินไป

9.   มีเลือดออกที่ผิดปกติ, เจ็บหรือไม่มีความรู้สึกที่ปาก

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการลุกลามของมะเร็ง การสูบบุหรี่, การใช้ใบยาสูบ, ยานัดถุ์

มะเร็งและสุขภาพช่องปาก

การรักษามะเร็งสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพช่องปากได้ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้สารเคมีและรังสีบำบัดที่บริเวณศีรษะ, ลำคอ และการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก คือ เหงือกอักเสบ, แผลในช่องปาก, การติดเชื้อ, ฟันผุและปากแห้ง จึงควรไปพบทันตแพทย์หรือทันตแพทย์เฉพาะทางด้านรักษาโรคเหงือกก่อนที่จะทำการรักษามะเร็งดังนั้นภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจะสามารภกำจัดหรือป้องกันได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำการมีอนามัยช่องปากและฟันที่ดีก่อนหรือหลังการรักษาโรคมะเร็งจะเป็นการลดการติดเชื้อได้

หลักการง่ายๆที่จะช่วยให้มีอนามัยช่องปากและฟันที่ดี

1.   ควรสังเกตบริเวณในปากทุกวันถึงอาการเจ็บปวดหรือมีสิ่งผิดปรกติ ควรปรึกษา ทันตแพทย์ทันทีเมื่อพบอาการดังกล่าว

2.   แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็น ส่วนประกอบ แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง หรือทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ถ้าแปรงฟันและรู้สึกเจ็บให้แช่แปรงสีฟันในน้ำอุ่น

3.   ควรทำให้ปากชุ่มชื้นอยู่เสมอโดยการจิบน้ำบ่อยๆ และใช้หมากฝรั่งหรือลูกกวาดที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำลายดีขึ้น หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เพราะ       จะทำให้ปากแห้งยิ่งขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทันตแพทย์จะได้ทำการจ่ายยาสำหรับกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลาย

4.   ขัดฟันด้วยไหมขัดฟันเบาๆและหลีกเลี่ยงบริเวณที่เจ็บหรือมีเลือดไหลชั่วคราว

5.   ถ้ามีอาการเจ็บหรือแสบในปาก ควรใช้น้ำอุ่น 1 ถ้วยผสมกับ เบกกิ่งโซดา 1/4 ช้อนชาและ เกลือ 1/8 ช้อนชา บ้วนปากทุกๆวันๆละ2-3 ครั้งและล้างปากตามด้วยน้ำทุกครั้ง

6.   หลีกเลี่ยงการการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา