ประวัติความเป็นมา
พ.ศ. 2483
พ.ศ. 2486
ใน พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นโดยแยกคณะแพทยศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกเภสัชศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมเป็นมหาวิทยาลัยสังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์ พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ และในปีนี้เองได้มีพิธีประสาทปริญญาแก่ทันตแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก จำนวน 6 คน
พ.ศ. 2490
ปี พ.ศ. 2490 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ออกเป็น 12 แผนก ได้แก่ แผนกอำนวยการ แผนกทันตวิภาคศาสตร์วิทยาฮิสโตกรรมและทันตพยาธิวิทยา แผนกเภสัชวิทยาและวิชาการรักษา แผนกทันตกรรมหัตถการ แผนกทันตกรรมประดิษฐ์ แผนกทันตกรรมจัดฟัน แผนกศัลยศาสตร์ แผนกรังสีวิทยา แผนกกายวิภาคศาสตร์ แผนกสรีรวิทยาและชีวเคมี แผนกวิทยาบัคเตรี-พยาธิ และแผนกโรงเรียนทันตานามัย (โอนกิจการโรงเรียนทันตแพทย์ชั้น 2 ของกรมสาธารณสุข)
พ.ศ. 2499
วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2499 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้จัดตั้งโรงพยาบาลโรคฟันและได้รับเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลทันตกรรม นอกจากนี้ยังได้ทำพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิของคณะฯ
พ.ศ. 2506
พ.ศ. 2512
พ.ศ. 2513
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประกอบพิธีเจิมรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่เป็น “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” นับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ส่วนพระองค์ ซึ่งสืบเนื่องมากจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนพระทัยต่อสุขภาพในช่องปากของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล ทางคณะฯ ยังดำเนินการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
พ.ศ. 2514
วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2514 คณะฯ ได้เปลี่ยนภาควิชาโรงเรียนทันตานามัยเป็นภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กเนื่องจากการขยายตัวทางด้านวิชาการทันตแพทยศาสตร์ คณะฯ จึงได้รับอนุมัติให้ตั้งภาควิชาต่างๆ ขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ ปี พ.ศ. 2516 ตั้งภาควิชาชีวเคมีแยกจากภาควิชาสรีรวิทยา และตั้งภาควิชาทันตกรรมชุมชนแยกจากภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและเปิดโครงการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ขึ้น
พ.ศ. 2517
ปี พ.ศ. 2517 ได้ตั้งภาควิชาปริทันตวิทยาแยกจากภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก
พ.ศ. 2521
ปี พ.ศ. 2521 ได้ตั้งภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยวซึ่งเป็นภาควิชาที่ 16
พ.ศ. 2522
ปี พ.ศ. 2522 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับงบประมาณก่อสร้างตึก 5 ชั้นขึ้นใหม่ คือตึกทันต. 5 (คลินิกรวม) เพื่อเป็นที่ตั้งของคลินิกรวม ประกอบด้วยภาควิชาทางคลินิก 4 ภาควิชา คือภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันต กรรมหัตถการ ภาควิชาปริทันตวิทยา และภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยว นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของภาควิชาทันต กรรมชุมชน ภาควิชาทันตพยาธิวิทยา และห้องสมุดคณะฯ
พ.ศ. 2525
ใน ปี พ.ศ. 2525 คณะฯ ได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์” เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการทางด้านทันตแพทยศาสตร์ของคณะฯ ในขณะที่คณะฯ มีอายุครบ 42 ปี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเฉลิมฉลองและสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี
พ.ศ. 2531
ในปี พ.ศ. 2531 คณะฯ ได้แบ่งส่วนราชการตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย (โครงสร้างการบริหารและองค์กรคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ) ออกเป็น 16 ภาควิชา สำนักงานเลขานุการ และโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์
พ.ศ.2533
ในปี พ.ศ. 2533 ในวาระที่คณะฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 50 ปี และเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา คณะฯ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และศิษย์เก่า ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้ ร่วมกันจัดสร้างอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นพร้อมครุภัณฑ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและ เทิดพระเกียรติองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาคารนี้จัดเป็นโรงพยาบาลทางทันตกรรม แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้านศัลยกรรมช่องปาก กระดูกขากรรไกรและใบหน้า รวมทั้งโรคฟันอื่นๆ ครบวงจร
ในวโรกาสเดียวกันนี้ ยังได้จัดสร้างพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานไว้ ณ บริเวณโถงชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์นี้ เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าอาจารย์ นิสิต ข้าราชการ บุคลากร และประชาชนที่มารับบริการด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุ 93 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณา ธิคุณจากพระองค์ท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ ว่า “อาคารสมเด็จย่า 93” ซึ่งนับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่คณะทันตแพทยศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2539
พ.ศ.2539
วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิด “อาคารสมเด็จย่า 93” ซึ่งเป็นอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ขนาด 40 เตียง บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิโลเฟเชียลแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยหน่วยบูรณะช่องปากและใบหน้า หน่วยความผิดปกติของใบหน้าแต่กำเนิด (ปากแหว่ง – เพดานโหว่) หน่วยทันตกรรมผู้สูงอายุ หน่วยทันตกรรมรากเทียม หน่วยผู้ป่วยติดเชื้อ รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนและปฏิบัติงานของนิสิตหลักสูตรหลังปริญญาทุกสาขาวิชา เป็นที่ตั้งของศูนย์การศึกษาบัณฑิตศึกษา ศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปาก ศูนย์ทันตสารสนเทศ และห้องประชุมสี สิริสิงห
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ฉลองครบรอบ 70 ปี ในการก่อตั้งคณะฯ เมื่อวันที่ 12 - 14 สิงหาคม 2553 คณะฯ ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน และยังมีคณบดีจากมหาวิทยาลัยในประเทศทั้ง 8 มหาวิทยาลัย และต่างประเทศจำนวน 11 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้คณะฯ ยังได้จัดการประชุมระหว่างคณบดี เพื่อหาแนวทางการศึกษาทางทันตแพทย์ในทศวรรษหน้าซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณบดีทุกประเทศ และคณะฯ ยังได้ทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับคณบดีต่างประเทศมากกว่า 10 มหาวิทยาลัย