คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์


ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ มีจุดเริ่มต้นจากการบริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ของนายคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัท เมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของศาสตราจารย์คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว (Tokyo Medical and Dental University) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยลงนามในสัญญาบริจาคกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น แล้วได้ทำการขนส่งมายังคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 18 มีนาคม 2555 พร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญในการจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ โดยทางคณะฯ ได้จัดเตรียมสถานที่ ห้อง 909-910 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ รวมทั้งจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการขนส่งและการปรับปรุงสถานที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,239,176 บาท การจัดทำพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 และเปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือว่าเป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน (plastination) ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์แบบ 3 มิติ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ 7 ชุด รวมทั้งสิ้น 131 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

รายละเอียดร่างกายและชิ้นส่วนที่จัดแสดง

ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง           จำนวน 13 ชุด
ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน               จำนวน 50 ชุด
ชิ้นส่วนอวัยวะ                     จำนวน 27 ชุด
ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ                   จำนวน 23 ชุด
ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย           จำนวน 6 ชุด
ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด        จำนวน 5 ชุด
ร่างกายทารกในครรภ์              จำนวน 7 ชุด
                 จำนวนรวม 131 ชิ้น

 

การรักษาสภาพร่างกายแบบ "พลาสทิเนชัน" คืออะไร

พลาสทิเนชัน (Plastination) เป็นวิธีการใหม่ในการรักษาสภาพร่างกาย หรือชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว วิธีการนี้ค้นพบในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Gunther von Hagens หลักการของพลาสทิเนชัน คือ การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยพลาสติกเหลว (ซิลิโคน อีพ็อกซี และพอลิเอสเทอร์โคพอลิเมอร์) ภายใต้สูญญากาศ จากนั้นบ่มพลาสติกให้แข็งตัวด้วยก๊าซ ความร้อน หรือรังสีอุลตราไวโอเล็ต ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือ เนื้อเยื่อหรืออวัยวะจะไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยารักษาสภาพ และไม่มีการเน่าสลาย สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน ในระยะเริ่มแรกของการทำพลาสทิเนชัน เป็นการทำในสัตว์และอวัยวะที่มีขนาดเล็ก ต่อมาได้มีการนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ทั้งร่าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำไม่น้อยกว่า 1,500 ชั่วโมงต่อการทำหนึ่งร่าง ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงกายวิภาคของร่างกายมนุษย์ที่ผ่านการทำพลาสทิเนชันที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) และในปัจจุบันมีการจัดแสดงนิทรรศการในลักษณะนี้ไม่น้อยกว่า 50 เมืองทั่วโลก และมีผู้เข้าชมแล้วไม่น้อยกว่า 29 ล้านคน มีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ที่ผ่านการทำพลาสทิเนชันกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 11 แห่ง